เรื่อง บ้านของฉัน

โดย ...

ฝาด้านหนึ่งในตึกผู้ป่วยเด็ก เป็นที่แสดงผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์

เกือบเข้าขั้นรก และเลอะเทอะ


เด็กป่วยมานอนโรงพยาบาลมักงอแงหงุดหงิด

ก็ได้อาศัยตะกร้าดินสอสีแจกให้วาดรูปเล่นกัน

บอกน้องว่าของใครวาดสวยๆ จะแปะอวดเพื่อนให้


เดินมองอยู่ทุกวันก็เริ่มเห็นความงามไปเอง

ศิลปะเด็กมีเสน่ห์อยู่ที่การบอกเล่าเรื่องราวตรงไปตรงมา

ชมภาพจิตรกรรมเพลินๆ ก็ถูกตามด่วนเพราะมีคนไข้ตัวน้อยไข้สูงจนชัก



น้องแก้มวัย ๒ ขวบ ถูกจับถอดเสื้อผ้า พี่พยาบาลช่วยกันเอาผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้แป๊บเดียวไข้ก็ลด นั่นร้องไห้หาคุณแม่ได้แล้ว


คุณแม่เล่าพลางสะอื้นว่า “น้องเพิ่งมีไข้เมื่อคืน ป้อนยาแก้ไข้ก็ไม่ลด

เช้านี้หันไปเห็นน้องเกร็งกระตุกทั้งตัว ตาเหลือกค้าง หน้าซีดขาว

นึกว่า นึกว่า...” แล้วเธอก็ร้องไห้โฮจนคุณพ่อต้องดุ


คุณย่า “พ่อเขาเล็กๆ ก็เคยชักแบบนี้ละค่ะ ย่าเอาผ้าห่มโปะเข้าเหงื่อแตกพลั่ก เดี๋ยวไข้ก็ลด นี่แม่เขาเอาผ้าเย็นๆ มาเช็ด ห้องก็เปิดแอร์เย็นเฉียบ เดี๋ยวหลานก็ปอดบวมพอดี”


เด็กเล็กๆ ช่วงไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันจึงชัก

โดยเฉพาะถ้ามีประวัติครอบครัว อย่างน้องแก้มนี่คุณพ่อก็เคยชักมาก่อน

น้องที่เคยชักแล้ว อาจชักซ้ำได้อีก ต้องดูแลใกล้ชิดจนอายุราว ๖ ขวบก็ไม่ค่อยชักกันแล้วล่ะค่ะ


เวลาเด็กเล็กไข้ขึ้นสูง ควรปิดแอร์ ปิดพัดลม จับดูปลายมือปลายเท้า

ถ้าตัวร้อนจี๋ แต่ปลายมือเย็นเจี๊ยบ ให้ใช้น้ำอุ่นเช็ดตัว

แต่ถ้าจับตรงไหนก็ร้อนตรงนั้น ค่อยใช้น้ำก๊อกเช็ดตัวให้นะคะ


ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กหลายๆ ผืน ชุบน้ำในกะละมังบิดหมาดๆ

ถอดเสื้อผ้าน้อง แล้วโปะผ้าไปตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขา ลำตัว และอีกผืนค่อยๆ เช็ดย้อนจากปลายมือปลายเท้าเข้าหาหัวใจ

ความเชื่อทำนองว่าถูกน้ำแล้วจะติดเชื้อปอดบวมไม่เป็นความจริงนะคะ โรคปอดบวมมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

เช่น สูดหายใจเชื้อโรค หรือสำลักเชื้อเข้าคอ แล้วลงไปปอดค่ะ


การดูแลเด็กเล็กไข้สูงโดยการเปิดแอร์เย็นๆ และห่มผ้านวมหนาๆ

ยิ่งทำให้ความร้อนระบายออกไม่ได้ ไข้จะยิ่งขึ้นสูง


การดูแลอาการไข้สูงที่ถูกต้อง การดูแลขณะชักที่บ้านเผื่อเกิดเหตุซ้ำ

แนวทางการดูแลต่อไปในวันข้างหน้า ยังมีคำถามคาใจอีกมากมาย


ผู้ปกครองทุกบ้านมักกังวลว่าหลังจากนี้ น้องจะโง่ลงไหม

คุณแม่หลายท่านแอบโทษตัวเองว่า ลูกชักเพราะเราเลี้ยงไม่ดี

หรือคุณพ่อที่โกรธตัวเองว่าถ่ายทอดเลือดไม่ดีให้

หลายบ้านตามใจน้องมากขึ้น เพราะกลัวขัดใจแล้วจะร้องจนชัก


ความคิด ความกังวล ความเชื่อ ความห่วงใย

หลายหลายความรู้สึก ที่อาจตรงกันข้ามกับความเป็นจริง


จัดแจงรักษาน้องตามหลักการแพทย์ จนส่งน้องขึ้นตึกผู้ป่วยเด็ก

ค่อยหันกลับมาจัดการกับปัญหาที่ไม่ได้สอนชัดเจนในตำรา


น้องแก้มหลับปุ๋ยสบายตัวไปแล้ว คุณแม่ยังคงสะอื้นอยู่

คุณพ่อหน้าเคร่งเครียดอยู่ข้างคุณย่าที่ยังคงต่อว่าลูกสะใภ้เป็นระยะ

“ไม่รู้เลี้ยงลูกภาษาอะไร พูดก็ไม่ฟัง ก็บอกแล้วว่า ... ฯลฯ”


ได้ใช้เวลาค่อยๆ อธิบายข้อมูลทางการแพทย์

คุณย่าเชื่อบ้าง แย้งบ้าง เพราะท่านก็เชื่อประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน


เรื่องปรกติในชีวิตประจำวันที่เราต้องข้ามให้ได้

เราเข้าใจถูกบ้าง ผิดบ้าง เขาเข้าใจถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา

ความเชื่อของเราอาจเปลี่ยน ความรู้ทางการแพทย์ก็เปลี่ยนได้

เราไม่เห็นด้วยกับคุณย่าบ้าง คุณย่าก็ไม่เชื่อเรา ก็เป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าปักใจว่าเขาต้องยอมรับฟังเราทั้งหมด คงต้องทุกข์ใจมากทีเดียว


ทำงานนานวันเข้า เจอะเจอปัญหาร้อยพัน ได้ข้อสรุปสอนใจตัวเองว่า

ทำเหตุในส่วนของเราให้เต็มที่ ส่วนผลอยู่เหนืออำนาจของเรา


การให้วิทยาทานด้วยเมตตา การเถียงหวังเอาชนะจากอัตตา

บางครั้งก็คั่นด้วยเส้นแค่บางๆ ต่างกันที่อุเบกขา และความมีตัวตน


จนมีโอกาสคุยกับคุณแม่ตามลำพัง เธอบ่นเบาๆ ว่า

หลักการดูแลเด็กที่ถูกต้องเธอทราบดี เพราะทั้งอ่านหนังสือ

ทั้งค้นคว้าเพิ่มจากอินเตอร์เน็ต ติดที่ความเชื่อสวนทางกับคุณย่า

คุณแม่แย้งก็กลายเป็นการจุดชนวน

คุณพ่อก็จะอารมณ์เสีย ตวาดคุณแม่ต่อหน้าคนอื่นประจำ

เธอน้ำตาคลอ เสียงสั่นเครือ

“คุณแม่เหนื่อยเหลือเกินค่ะ เบื่อ เหนื่อย อยากหนีไปเสียให้ไกลๆ”


“บ้าน” ควรจะเป็นสถานที่พักพิงกายใจ ให้อบอุ่น และเป็นสุข

“บ้าน” ควรเป็นที่อาศัยของสมาชิกที่รักใคร่ เป็นกำลังใจให้แก่กัน


ภาพบ้านอบอุ่นในฝัน ที่ทุกคนอยากได้ กับภาพจริงตรงหน้า

อาจไม่ใช่ภาพเดียวกัน


มีการทดสอบทางจิตวิทยาประเภทหนึ่ง ที่ยื่นกระดาษเปล่า

ให้เด็กวาดภาพ บ้าน ต้นไม้ และสมาชิกในครอบครัว

ผลที่ได้ทั้งน่าประหลาดใจ และบางครั้งก็น่าเศร้าใจ


น้องบูมลูกนักธุรกิจใหญ่ วาดรูปตัวเองกับพี่เลี้ยงตัวโตเต็มหน้ากระดาษ

มีคุณพ่อคุณแม่ตัวเล็กๆ ยืนอยู่ตรงมุม ใบหน้าคุณพ่อไม่มีรอยยิ้ม


น้องบุ๋มเป็นลูกคนกลาง น้องวาดรูปพี่ชาย และน้องสาวอยู่ในอ้อมอกคุณแม่

รูปน้องบุ๋มตัวเล็กที่สุด ยืนอยู่ถัดออกไป ใส่เสื้อสีดำเป็นรอยขีดปื้นๆ

เหมือนระบายความคับข้องใจที่ต้องรับช่วงเสื้อเก่าจากพี่ชายมาตลอด


น้องบิ๋มวาดภาพใบหน้าผู้หญิงสองคนกอดกันอยู่ในวงกลมเบี้ยวๆ

ถูกถามก็อธิบายด้วยตาใสแจ๋วว่า “คุณแม่บอกว่าเรากำลังตกกระป๋อง”


น้องแก้มยังเล็กเกินกว่าจะเขียนรูปภาพ แต่ถ้าวันใดหนูโตพอ

ก็อยากเห็นภาพเขียนที่ทุกคนในครอบครัวจับมือกัน ยิ้มหัวเราะให้กัน


ครอบครัวที่พร้อมจะสลัดอารมณ์ใส่กัน โทษตัวเอง หรือโทษคนอื่น

มีใครที่ต้องแอบร้องไห้ด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่บ่อยๆ

ไม่ใช่ครอบครัวคุณภาพค่ะ


จากการพูดคุยพอจับแนวทางได้ว่า คุณย่าเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในบ้าน

คุณพ่อเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นลูกที่คุณย่าทั้งรักทั้งภูมิใจ

คุณแม่เป็นแม่บ้าน การศึกษาไม่สูงนัก เป็นปมด้อยของคุณแม่อยู่เสมอ


คุณแม่รู้สึกว่าคุณย่าดูถูก ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวและการเลี้ยงลูก

แถมสามีเข้าข้างคุณย่า ไม่เข้าใจเธอ เธอรู้สึกไร้ค่าเวลาอยู่ในบ้าน

คุณพ่อรู้สึกว่าคุณแม่อ่อนแอ เจ้าน้ำตา และคิดมากเกินไป

คุณย่ารู้สึกว่าคุณแม่ดื้อเงียบ และไม่ประสบความสำเร็จอะไรในชีวิต


แนวความคิดเชิงจิตวิทยาครอบครัว อธิบายว่า

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะย้อนเป็นวงกลมเสมอ


ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน

คุณพ่อมองปัญหาว่า เพราะคุณแม่คิดมาก พูดนิดก็น้อยใจ

คุณแม่ก็บอกว่าเพราะคุณพ่อไม่ใส่ใจความรู้สึก พูดไม่ดี จึงเสียใจ


ปฏิสัมพันธ์ที่มองเป็นเส้นตรง เพ่งโทษที่อีกฝ่าย ไม่มีทางปรับหากันได้

ความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ระหว่างกันจะม้วนเป็นวงกลมเสมอ


คุณแม่กังวล คุณพ่อดุ คุณแม่น้อยใจ คุณพ่อหงุดหงิด คุณแม่กังวล


การแก้ที่ถูกต้องคือ หาทางออกร่วมกันให้วงจรไม่ย้อนมาเป็นวงกลมอีก


คุณแม่กังวล คุณพ่อดุ คุณแม่น้อยใจ คุณพ่อปลอบ

ขณะเดียวกัน คุณแม่ก็ต้องลดความน้อยใจ คิดมากของตัวเองด้วย


ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีสมาชิกมากกว่าสอง ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นหลักการคร่าวๆ คือ

ต้องมีความชัดเจน เคารพซึ่งกันและกัน และไม่ก้าวข้ามปฏิสัมพันธ์ของอีกฝ่าย

เช่น คุณย่าสอนลูกสะใภ้เรื่องการเลี้ยงหลานได้

แต่ไม่ควรจำกัด หรือขีดเส้นให้คุณแม่เดินตามทั้งหมด


คุณพ่อซึ่งเป็นคนกลาง ไม่ควรตัดสินคดีรายวันระหว่างคุณย่ากับคุณแม่

แต่ควรแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบให้ชัดเจน

คุณพ่อต้องกล้าพอจะพูดกับคุณย่าอย่างเปิดอก ว่าหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกเป็นของคุณแม่


รวมทั้งคุณแม่ก็ต้องไม่เล่นบทนางเอกผู้พ่ายแพ้ตลอดไป

ต้องดูแลตัวเองเป็น หาความสุข ความร่มเย็นให้ใจตัวเอง

เป็นที่พึ่งพิงของตัวเองให้ได้ ต้องพัฒนาปรับปรุงตัวเองด้วย


ถ้าปักใจเสียแล้วว่าถ้าสามีกับคุณย่าพูดดีด้วยก็เป็นสุข

วันใดพูดร้ายก็เป็นทุกข์ ก็เตรียมตัวร้องไห้ได้ตลอดไป

มีคติของฝรั่งสอนว่า ไม่มีใครทำร้ายคุณได้เท่าความคิดของคุณเอง


ฆราวาสธรรม หรือธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ไม่ว่าในปฏิสัมพันธ์ใดๆ

ก็ตาม ควรปฏิบัติให้ได้สม่ำเสมอ มี ๔ ประการ คือ


สัจจะ คือ ความจริงใจต่อกัน พูดจริงทำจริง ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้

ทมะ คือ การฝึกฝนอบรมตน ควบคุมตัวเองด้วยปัญญาที่ถูกต้องได้

ขันติ คือ ความอดทน ทั้งต่อความยากลำบาก อดทนต่อความโกรธ อดทนต่อกิเลสเบื้องต่ำ เป็นต้น

จาคะ คือ การเสียสละ มีน้ำใจต่อกัน


ความจริงใจต่อกัน ถือเป็นบันไดขั้นแรก


ถ้าทุกคนมีความจริงใจต่อกัน ตั้งใจจริง

หวังสร้างครอบครัวคุณภาพ ที่มีความสุขร่วมกัน

ครอบครัวที่เข้มแข็ง เป็นพลังให้เราพร้อมจะต่อสู้กับโลกภายนอกได้

ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนตัวร่วมกัน อดทน เสียสละ มีน้ำใจ และเป็นกำลังใจให้กัน


บ้านของเรา จะได้เป็นบ้านในฝันเหมือนที่วาดภาพไว้ในใจค่ะ