ตอน พระเจดีย์พุทธคยา

โดย Rainbow

ดิฉันตั้งใจไว้ว่าจะต้องไปกราบแผ่นดินพุทธภูมิสักครั้งในชีวิตนี้ พอพี่ทางธรรมที่เมืองไทยบอกว่าจะไปเจริญภาวนาที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา กับคณะปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน (พระครูพุทธิสาร

สุนทร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นเวลา ๑๐ วันในช่วงต้นเดือนมกราคม ดิฉันจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะลางานร่วมเดินทางไปกับคณะนี้ด้วย

พระเจดีย์พุทธคยานี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธ-คยา จังหวัดคยา แห่งรัฐพิหาร* เป็นพระเจดีย์ ๔ เหลี่ยมทรงแหลม ตั้งตระหง่านสูงประมาณ ๑๗๐ ฟุตจากพื้นดิน UNESCO ได้ประกาศพระ

เจดีย์พุทธคยาแห่งนี้ให้เป็นมรดกโลกเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๕

พระเจดีย์พุทธคยา สร้างขึ้นด้วยศิลปะอันประณีตและวิจิตรบรรจง มีรูปลักษณะที่โดดเด่นแปลกตาอยู่แห่งเดียวในโลก จากหลักฐานทางโบราณคดีกล่าวว่า พระเจดีย์นี้พระเจ้าหุวิชกะ (Huvishka) เป็นผู้สร้างใน

พุทธศักราช ๖๙๔ เพื่อแสดงสถานที่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับและตรัสรู้ เนื่องจากพระองค์ดำริว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นมีชีวิตอยู่ได้ไม่ยืนนานเท่าสิ่งก่อสร้างถาวรและบูรณะได้ตามกาลเวลา หนังสือบาง

เล่มจึงเรียกพระเจดีย์นี้ว่า “พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” หรือ “พระเจดีย์โพธิคยา”

พระเจดีย์พุทธคยาตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีพระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งมีความหมายว่า “พระที่นั่งแห่งมหาบุรุษผู้ใจเพชร” ประดิษฐานคั่นอยู่ระหว่างกลาง

พระแท่นนี้พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้ทรงดำริให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รองรับเครื่องสักการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่แต่ละครั้งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังเป็นจำนวนมากมาย โคนต้นไม้ที่เห็นในภาพนื้คือโคนต้นพระ

ศรีมหาโพธิ์ เพื่อรักษาคุ้มครองพระแท่นและต้นพระศรีมหาโพธิ์ให้ปลอดภัยจากการสัมผัสจับต้องของผู้เข้าชมที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากไม่ขาดสายในแต่ละวัน ทางการจึงสร้างกำแพงล้อมต้นโพธิ์และพระแท่นไว้ดั่งที่เห็นใน

ภาพ กำแพงนี้ถูกตกแต่งด้วย พวงมาลัย ผ้าสีต่างๆ และสายธงทิวต่างๆ ที่ชาวพุทธนำมาบูชาผูกไว้รอบกำแพงจนผู้ชมเดินรอบฐานพระเจดีย์ไม่สามารถมองเห็นพระแท่นได้ในระดับสายตา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันนี้เป็นหน่อที่ ๔ สืบสายพันธุ์โดยตรงจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นเดียวกับที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ เมื่อ ๒,๕๙๖ ปีมาแล้ว ลำต้นขนาด ๓ คนโอบ สูงประมาณ ๘๐ ฟุต มีอายุ ๑๒๘ ปีในปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๑)

ภายในพระเจดีย์พุทธคยาชั้นล่าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือปางสะดุ้งมาร เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยหินแกะสลักสง่างามมาก ตามประวัติกล่าวว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยหินแกรนิตสีดำสมัยปา

ละ มีอายุ ๑,๔๐๐ ปีกว่า ซึ่งมีหน้าตักกว้าง ๑.๔๗ เมตร สูง ๑.๖๔ เมตร มีพระพักตร์อันเปี่ยมไปด้วยความเมตตา จนศาสนิกชนชาวไทยให้สมัญญาว่า “พระพุทธเมตตา”

ผู้ที่ได้ชมพระพุทธเมตตานี้จะเกิดความอิ่มเอิบเบิกบานใจเกินคำบรรยาย ต้องเห็นและสัมผัสด้วยตนเอง ปัจจุบันนี้ด้านหน้าองค์พระกั้นด้วยแผ่นกระจก เพื่อกันไม่ให้ผู้ชมจับต้ององค์พระ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพระสงฆ์จาก

ชาติต่างๆ เปลี่ยนเวรมาดูแล คอยผลัดเปลี่ยนจีวรให้องค์พระตามจำนวนผ้าจีวรที่ชาวพุทธนำมาถวายมากมายในแต่ละวัน ผู้ที่เข้าชมทุกวันนี้จึงเห็นแต่พระพักตร์ของพระพุทธเมตตาเท่านั้น ส่วนร่างกายถูกผ้าจีวรคลุมปิด

ไว้ตามที่เห็นจากภาพถ่ายด้านล่างนี้ กว่าจะได้ภาพนิ่งที่ห่มจีวรเรียบร้อยดั่งภาพ ดิฉันพยายามเข้าไปเก็บภาพท่านอยู่หลายครั้งทีเดียว 

คณะเราไปพักที่วัดป่าพุทธคยา ซึ่งเป็นวัดไทยที่อยู่ด้านหลังของพระเจดีย์พุทธคยา รั้วห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตรเท่านั้น เราออกจากประตูวัดเดินผ่านถนนเล็กๆ ตลอดแนวรั้วด้านข้างของพระเจดีย์ อ้อมไปเข้าด้าน

หน้าของประตูรั้วพระเจดีย์ เข้าไปเดินเวียนขวาฐานพระเจดีย์สามรอบ แล้วจึงหาที่นั่งเจริญภาวนาที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ คณะเราเดินกลับมาทานอาหารกลางวันและมาใช้ห้องสุขาที่วัดเสมือนอยู่ในบริเวณรั้ว

เดียวกัน เราเดินไปๆ กลับๆ วันละหลายรอบตามอัธยาศัย บางวันก็ไปชมเมือง ช้อปปิ้งซื้อของฝากญาติมิตรที่บ้านบ้าง หรือไปแวะเยี่ยมชมวัดพุทธอื่นๆ ในตำบลพุทธคยาบ้าง ซึ่งล้วนแต่ใหญ่โต งดงาม สงบร่มเย็น

สะอาดสะอ้าน ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีซึ่งเป็นภาพที่ขัดตาสำหรับดิฉัน เมื่อเห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตที่อยู่ภายในรั้ววัดและนอกรั้ววัด

ตอนเย็นหลังทำวัตรเย็นที่วัดแล้ว คณะเราก็รวมกลุ่มไปเจริญภาวนาที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์พร้อมกัน โดยมีพระอาจารย์บุญกู้เป็นผู้นำ ในเวลาค่ำคืน บริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จะมีโคมไฟสว่างพอให้เห็นหน้ากัน คณะ

ที่มาพระเจดีย์ตอนค่ำส่วนมากเป็นผู้ที่เตรียมตัวมาเจริญภาวนากันที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนถึงเวลาปิดสถานที่ตอน ๓ ทุ่ม

คณะเรานั่งภาวนาจนกระทั่งได้ยินเสียงนกหวีดครั้งแรกตอน ๒ ทุ่ม ๔๕ นาที สัญญาณบอกเวลาเตรียมปิดสถานที่ ถ้าใครจะอยู่ภาวนาต่อใต้ต้นโพธิ์ตลอดคืนต้องซื้อบัตรค้างคืนราคา ๑๐๐ รูปีไว้ล่วงหน้าก่อน พวกเรา

หลายคนเตรียมเต็นท์หรือกระโจมมุ้ง เบาะรองนั่งไปด้วย พร้อมที่จะเจริญภาวนากันตลอดคืน เจ้าหน้าที่ของที่นี่เอาจริง ถ้าเราไม่รีบไหว้พระ แผ่เมตตา เก็บสัมภาระตอนได้ยินเสียงนกหวีดครั้งแรก เขาจะมาขอดู

บัตรทันที ถ้าไม่มีบัตรค้างคืนก็จะเร่งเราอย่างไม่ออมชอมกันเลย พอเราออกมาทางหน้าประตูรั้วพระเจดีย์จึงเข้าใจว่าทำไมเขาถึงมาเร่งเรานัก เจ้าหน้าที่อีกชุดทำความสะอาดพื้นที่ด้วยการฉีดน้ำล้างทางเดิน

เปียกชื้นไปหมด หากเรามัวชักช้าก็ต้องมาลุยน้ำกันหน้าประตูรั้วด้านนอกนี่เอง พี่บังฉีดน้ำทำความสะอาดอย่างเร่งรีบ ไม่สนใจใครจะเดินผ่านกันบ้าง ตัวใครตัวมันว่างั้นเถอะ

ต้นเดือนมกราคมที่คณะเราไปนั้นเป็นช่วงเดียวกับคณะลามะธิเบตมาแสวงบุญกัน ชาวบ้านบอกว่าลามะท่านมาหลบหนาวในช่วงเดือนมกราคมเป็นประจำทุกปี ยกกันมาเป็นหมู่บ้าน บริเวณพระเจดีย์รอบนอกจึงเต็มไปด้วย

ลามะธิเบตนั่งสวดมนต์กันอย่างเป็นระเบียบภายใต้ร่มของเต็นท์ชั่วคราว ที่จัดทำขึ้นง่ายๆ

บางเวลากลุ่มลามะท่านก็สวดมนต์เดินรอบพระเจดีย์ ดิฉันรู้สึกว่าบริเวณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์พลุกพล่านเต็มไปด้วยผู้คนเดินเวียนขวากันตลอดเวลา ถึงแม้เขาจะห้ามใส่รองเท้าและพื้นบริเวณพระเจดีย์รอบในเป็น

หินอ่อนก็ตาม ก็ใช่ว่าพื้นจะสะอาดนัก แต่แปลกที่จิตเราสงบเยือกเย็นขณะที่นั่งอยู่ในบริเวณนั้น ไม่รู้สึกรำคาญอึดอัดกับผู้คนที่เดินผ่านเราไป ถ้าเราไม่ระวังอาจจะถูกชนหรือชนเขาก็ได้ แต่ดิฉันไม่เห็นใครถือโทษต่อว่า

กัน ต่างคนต่างสำรวมสวดมนต์บทของตนไป สำหรับสถานที่ภาวนานั้นเขาจัดที่ปูพรมติดกับฐานพระเจดีย์ทั้งสองข้างของรั้วด้านนอกของพระแท่นวัชรอาสน์ พื้นที่ของพรมพอจะนั่งได้ข้างละ ๒๕ คน บางคนก็ปูผ้านั่งหลบมุม

ภาวนาใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตามที่จะหาได้ เว้นพื้นที่ทางเดินผ่านไว้ ด้วยบารมีของพระอาจารย์ คณะเรามักจะได้ที่นั่งบนพรมเวลาไปภาวนากันในตอนกลางคืน

สรุปแล้วที่พุทธคยาสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๔ อย่างที่นักทัศนาจรและผู้แสวงบุญไม่ควรพลาด ได้แก่

. พระเจดีย์พุทธคยา

. ต้นพระศรีมหาโพธิ์

. พระแท่นวัชรอาสน์

. พระพุทธเมตตา

เสียงที่ดิฉันได้ยินดังแว่วเข้าหูตลอดเวลา ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธ์นี้คือ

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

ช่างเป็นเสียงอันไพเราะจับใจยิ่งนัก

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ คุณ venfaa สมาชิกลานธรรม** กรุณาส่งภาพพุทธเมตตาเต็มองค์มาให้ และพี่ทางธรรมที่กรุณาดาวน์โหลดภาพจากกล้องเพื่อนๆ ร่วมคณะครั้งนี้ใส่ซีดี แล้วเมล์มาให้เลือกเพื่อใช้ประกอบเรื่องนี้ให้

สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

* ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของบทความนี้ ได้รวบรวมจากหนังสือ “ประวัติพุทธคยา” คณะพุทธบริษัท วัดป่าพุทธคยา จัดพิมพ์ถวายเป็นพุทธบูชา พ.ศ. ๒๕๔๙

** สำหรับผู้ที่สนใจไปนมัสการสังเวชนียสถาน ขอแนะนำให้อ่านเรื่องเล่าของคุณ venfaa ในกระทู้ “ไปนมัสการสังเวชนียสถานมา” http://larndham.net/index.php?showtopic=30502&st=0