มติ ครม.เห็นชอบ 5 มาตรการ ช่วย SMEs วงเงินรวม 260,000 ล้านบาท ทั้งปล่อยกู้ พร้อมลดภาษี 10% แต่หากจดทะเบียนใหม่ยกเว้นให้ 5 ปี หวังปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเอสเอ็มอี จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 5 มาตการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องสามารถประคองตัวให้อยู่รอดและสามารถดำเนินธุรกิจต่อ ไปได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยกำหนดให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบัน การเงินเฉพาะกิจที่อัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อภายใน 31 ธันวาคม 2558
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้วงเงินจากโครงการนี้ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” 2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน 3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ 5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง
2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS-5) ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยให้ SMEs ที่ขาดหลักประกันในการกู้ยืมเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น มีวงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs สูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี โดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน และคิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก และจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.25 ในปีที่ 2 ร้อยละ 0.75 ในปีที่ 3 และร้อยละ 0.25 ในปีที่ 4 โดยผู้ประกอบการสามารถรับคำขอค้ำประกันได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559
3.มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง โดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งสำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตได้ต่อไป
4.มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้
5.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบกิจการที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
(2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร
(3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ผลของมาตรการการเงินจะส่งผลให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องจำนวน 60,000 ราย (วงเงินสินเชื่อ SMEs เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท) สามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000 คน (เฉลี่ย 4 คนต่อราย) และส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทันทีก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท (ใช้ค่าเฉลี่ย Multiplier Effect ที่ 9.7 เท่า ของวงเงินโครงการ) ช่วยให้ SMEs มีความเข้มแข็งและเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ส่วนมาตรการภาษีจะช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาถือว่าดีกว่ามาตรการที่เคยดำเนินการมา และมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายมาตรการที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้นที่ประชุมนายกรัฐมนตรีประยุทธ จันทร์โอชา ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคิดหาแนวทางดำเนินการยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทย เช่น เครื่องหนัง อัญมณี ฯลฯ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพระดับสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักบางประเภทจากต่างประเทศที่จะนำมาพัฒนาสินค้าเพื่อยกระดับให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นเป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น การส่งเสริมในมาตรการต่างๆ ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี เป็นต้น
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารพร้อมจะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอีรวมทั้งปล่อยกู้ให้โครงการกองทุนหมู่บ้านอีก 3 หมื่นล้านบาท รวม 1.3 แสนล้านบาท เชื่อว่าไม่กระทบสภาพคล่องธนาคาร สำหรับเงื่อนไขสินเชื่อเอสเอ็มอีเบื้องต้นจะปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีที่มีสินทรัพย์ไม่เกิน 200-250 ล้านบาท และห้ามปล่อยกู้รีไฟแนนซ์ หนี้เก่า