Author Topic: 111 ข้อเกี่ยวกับวิศวลาดกระบังในความทรงจำของข้าพเจ้า  (Read 12557 times)

golfreeze

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • Posts: 2145
    • View Profile
    • นั่งสมาธิ สติปัฏฐานสี่ พาเที่ยววัด แนะนำวัด แจกcd ธรรมะฟรี
    • Email
111 ข้อเกี่ยวกับวิศวลาดกระบังในความทรงจำของข้าพเจ้า


ได้รู้จักชื่อพระจอมเกล้าฯลาดกระบังเต็ม ๆ ตอน ม.5 เพราะไปเปิดหนังสือแนะนำสถาบันที่ห้องแนะแนวของโรงเรียน สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต การติดตามข่าวสารการศึกษาต่อที่ห้องแนะแนวเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ที่ตั้งของพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังได้รับบริจาคมาจากท่านเลี่ยม พรตพิทยพยัตภริยาคุณหลวงพรตพิทยพยัตซึ่งเป็นทายาทของท่านเจ้าคุณทหารหรือท่านเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) 1,041 ไร่
สีประจำพระจอมเกล้าฯลาดกระบังคือ  สีแสด (ซึ่งเป็นสีประจำรัชกาลที่ ๔) และสีขาว (พระจอมเกล้าธนบุรี คือ แสดเหลืองและพระจอมเกล้าพระนครเหนือคือแสดดำ) และดอกไม้ประจำสถาบันคือ ดอกแคแสด
อักษรย่อ คือ สจล.
พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2503 ในนาม ศูนย์ฝึกโทรคมนาคมนนทบุรี ภายใต้ความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ตึกโทรคมนาคมหรือตึกโทรฯ เป็นอาคารหลังแรกของพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังหลังจากที่มาตั้งที่นี่ โดยใช้เสาโทรฯ เป็นอุปกรณ์การสื่อสารกับศูนย์นนทบุรีสมัยที่ยังเป็น 2 วิทยาเขตร่วม
เสาโทรฯ เป็นสัญลักษณ์ของวิศวลาดกระบัง
ตึกโทรคมนาคมหรือตึกโทรฯ เป็นอาคารหลังแรกของพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังหลังจากที่มาตั้งที่นี่ โดยใช้เสาโทรฯ เป็นอุปกรณ์การสื่อสารกับศูนย์นนทบุรีสมัยที่ยังเป็น 2 วิทยาเขตร่วม
ถ้าดูจากรูปเก่า ๆ จะเห็นตึกโทรฯ ตั้งอยู่เดี่ยว ๆ อยู่กลางทุ่งริมทางรถไฟ
ตึก A สร้างตามมา ตามด้วยตึก B และตึกภาค power
ตอนนั้นดูหลักสูตรแล้วก็สนใจของพระจอมเกล้าฯลาดกระบังมาก เพราะว่า ตอนที่ Entrance เข้าไป จะเป็น กลุ่มไฟฟ้า ณ เวลานั้นมี โทรคม (A), ไฟฟ้า (B) กำลัง, อิเล็กทรอนิคส์ (C), คอมพิวเตอร์ (D), ระบบควบคุม (E), เครื่องมือวัด (J) แยกวิชาเรียนกันอย่างชัดเจน แต่ที่มหาวิทยาลัยอื่นจะเป็นวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วเลือกวิชาเลือกตามแขนงอื่น ๆ ตอนปี 4
รวมไปถึงมหาวิทยาลัยอื่น ยังไมได้แยกรหัสสาขาให้เลือกเหมือนปัจจุบัน คือเข้าคณะวิศวฯ ไปก่อนแล้วใช้เกรด ปี1 ในการเลือกภาควิชา ถ้าเกรดไม่ถึงก็ไม่ได้ภาควิชาที่ต้องการเรียน
จากข้อ 11. จึงเป็นเหตุผลหลักข้อนึงที่เลือกกลุ่มไฟฟ้า พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังเป็นอันดับ1 คือ อย่างน้อยก็ได้เรียนในกลุ่มวิศวกรรมไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าสาขาใด
ปี 40 (รุ่น 36) รับกลุ่มไฟฟ้า 600 คน จากปี 39 รับ 300 คน เพราะคณะวิศวกำลังสร้างอาคารเรียนใหม่ เลยรับ นศ. เพิ่มขึ้น
นอกจากกลุ่มไฟฟ้าแล้ว ยังมี วิศวกรรมอาหาร (Y), เกษตร (K), เทคโนโลยีการก่อสร้าง (H), เครื่องกล (G), เคมี (K) และอุตสาหการ (Z) โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษคือ ชื่อห้องเมื่อแยกภาควิชาแล้ว
ถ้าเป็นปี 1 ก่อนแยกเข้าภาควิชา จะเรียงห้อง 1-10 และเรียกตามตัวอักษร A-J เพื่อความสะดวกในการจัด section เรียน และให้รุ่นพี่ช่วยดูแลได้ง่าย เป็นพี่ห้อง/น้องห้อง
วิศวกรรมอาหารแยกออกมาจากวิศวกรรมเกษตร โดยก่อนหน้าจะเป็นวิศวกรรมเกษตรแล้วไปเลือกเรียนวิชาวิศวกรรมอาหารหรือวิศวกรรมเกษตร ตอนปี 3-4
วิศวกรรมเทคโนโลยีการก่อสร้าง ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิศวกรรมโยธาในภายหลัง
วิศวกรรมอุตสาหการ รหัส 40 เป็นรุ่นแรก
วิศวกรรมเคมี รหัส 40 เป็นรุ่นที่ 4
วิศวกรรมสารสนเทศ (F) เปิดให้ นศ.เลือกครั้งแรกคือ นศ.รหัส 41, รหัส 40 และก่อนหน้าไม่มีสิทธิ์เลือก
รหัส 40 วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เปิดรหัส Entrance แยกเป็นรุ่นแรก มีวงเล็บต่อท้ายว่า โครงการเร่งรัดผลิตบัณฑิต ต่อมาภายหลังได้วงเล็บเอาออกไป ถ้าจำไม่ผิดปีนั้นรับ 40 คน
เมี่อก่อนมีวิศวฯ ต่อเนื่องด้วยเรียน 3 ปี ด้วยวุฒิ ปวส. รุ่นสุดท้ายที่รับเข้ามาประมาณปี 50
ไปลาดกระบังครั้งแรกตอนเมษายน 40 ตอนนั้นยังไม่รู้ผล Entrance แต่พอดีว่าไปเยี่ยมญาติที่กรุงเทพ เลยขอให้คุณพ่อขับรถพาไปดูสถานที่จริง ไปถึงก็เงียบกริบเลย เพราะไม่มีภาคฤดูร้อนเปิดสอน
ไปครั้งที่สองคือนั่งรถไฟไปรายงานตัวหลังจากผล Entrance ออก ประมาณกลางพฤษภาคม
ครั้งที่สามคือย้ายของเข้าหอปลายเดือนพฤษภาคม โดยมีคุณพ่อกับคุณแม่ไปส่ง ขับรถไปกันเอง
ตอน Entrance เลือกกลุ่มไฟฟ้าลาดกระบังอันดับ 1, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อันดับที่ 2 เพราะวิศวฯคอม ยังไม่มีคะแนนให้อ้างอิง ปรากฏว่าคะแนนต่ำสุดของวิศวฯคอม สูงกว่ากลุ่มไฟฟ้าเล็กน้อย
ปี 40 คะแนนต่ำสุดของกลุ่มไฟฟ้าคือ 303 คะแนน, ปี 39 ต่ำสุด 321 คะแนน
นศ.คนใดที่เลือกกลุ่มไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 จะได้สิทธิ์เลือกภาควิชาก่อน ตามด้วย นศ.ที่มาจากโควต้าช้างเผือก 40 คนแรก และที่เหลือใช้เกรดตอน ปี 1 2 เทอม ในการจัดอันดับ นศ.
รหัส 40 เป็นรหัสสุดท้ายที่ใช้หลักสูตรเก่า กลุ่มไฟฟ้า, คอม, โยธา, เครื่องกลและเกษตร เรียนด้วยกัน คือ เรียน Math I 6 หน่วย, เรียน Electric Circuit และ Mechanic ในเทอมแรก, Digital+Thermodymics+Quantum Physics ในเทอมที่ 2, Fundamental of Electronics+Fundamental of Electrical Engineering ถ้าเป็นโยธาก็จะเรียน Fundamental of Civil  Engineering ในเทอมที่ 3 ไม่ต้องเรียนเคมี, ฟิสิกส์
วิศวกรรมอุตสาหการ, เคมีและอาหาร แยกไปเรียนอีกกลุ่ม ต้องเรียนฟิสิกส์และเคมีแทนวิชาของข้อ 19.
สมัยนั้น นศ. นิยมขี่จักรยานกัน น้อยคนที่จะใช้จักรยานยนต์หรือรถยนต์
สมัยนั้น ปอ.18 วิ่งจากจตุจักรไปสุดสายในสถาบัน ใช้เวลาวิ่งประมาณ 2 ชั่วโมง
ถนนเกกีงาม เรียกสั้น ๆ ว่าเกกี เมื่อก่อนมี 3 ซอย และสุดถนนลาดคอนกรีตที่ทางเข้าวัดปลูกศรัทธา (วัดสี่) แต่ปัจจุบันได้ทำถนนออกไปอีกและเป็นโซนหอพักสุดหรูหราที่ปลายถนน
ค่าตั๋วรถไฟจากสถานีกรุงเทพฯ(หัวลำโพง)-อุรุพงษ์-พญาไท –มักกะสัน-คลองตัน-หัวหมาก-บ้านทับช้าง-พระจอมเกล้า อยู่ที่ 6 บาท
ถ้าเป็นรถแอร์ใช้ขบวนรถแบบสปรินเตอร์ ราคา 20 บาท
ถ้าจะไปพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ให้ลงที่ป้ายหยุดลงพระจอมเกล้า ไม่ใช่ลงที่สถานีรถไฟลาดกระบัง
หอพักส่วนใหญ่อยู่ที่ซอยเกกี มีบ้างที่ออกมาที่ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง, ซอยจินดาและอีกที่คือซอยไปรษณีย์
ซอยจินดาน้ำท่วมขังได้เรื่อย ๆ เพราะเป็นทางลาดลงไปจนสุดซอย จนทุกวันนี้ถ้าฝนตกหนักหน่อยก็จะท่วมขัง
ซอยไปรษณีย์ก็เช่นกัน ถ้าฝนตกถนนจะเละมาก สมัยนั้นยังเป็นถนนดินอยู่ แต่น่าแปลกที่ว่าสาวสวยของแต่ละคณะมักจะอยู่ที่หอซอยไปรษณีย์
เมื่อก่อนที่ตลาดหัวตะเข้ตอนดึกตั้งแต่ 3-4 ทุ่ม จะมีร้านข้าวแกง 10 บาท ราดกับได้ 2 อย่าง อร่อยดี ได้เยอะ โดยเฉพาะผัดวุ้นเส้นและต้มข่าไก่ ไม่รู้ว่าตอนนี้ยังมีอยู่ไหม
ร้านข้าวขาหมูก่อนถึงปากซอยจินดา หน้าทางเข้าหอราชพฤกษ์ ก็อร่อย เริ่มขายตั้งแต่ปี 41-42 จนถึงทุกวันนี้ ทราบว่ายังขายอยู่
7-11 ที่อยู่หลังโรงอาหารคณะ หน้าตึก B เมื่อก่อนเป็นอาคารสโมสรนักศึกษา
ตึกกิจกรรมวิศวฯ มีข่าวว่าจะทุบทิ้งตั้งแต่ปี 38-39 เพราะว่าเก่าพอสมควร แต่ทุกวันนี้ก็ยังอยู่และมีหลายชุมนุมของคณะวิศวฯ และชมรมอยู่
ชมรมรักบี้, ชมรมซอฟต์บอลและชมรมบาสอยู่ที่ตึกกิจวิศวฯ
ชมรมฟุตบอลอยู่ศาลาหน้าตึกกิจวิศวฯ
ที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง คำว่า ชุมนุมจะสังกัดคณะ, ชมรมจะเป็นส่วนกลางของมหาวิทยาลัย
ตึก CCA เสร็จตอนปี 42-43
ตึก ECC เสร็จตอนปี 44-45
สนามกีฬาเสร็จตอนปี 44
สะพานข้ามทางรถไฟเสร็จตอนปี 44-45 (เอ๊ะ เสร็จหลังจบเกือบทั้งนั้นเลยนี่!)
ตึก A มีห้องสมุดคณะและมีตำนานที่น่าระทึกสำหรับนักศึกษาชาย
ตำนานห้องน้ำหญิงชั้น 5 ที่ตึก A ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้นว่าจะทำพิธีอัญเชิญจากหิ้งบูชาลงมาที่ศาลหลังตึก A แล้วก็ตาม
ส่วนตัวเคยเจอลิฟต์ไปจอดที่ชั้น 5 โดยที่ไม่ได้กดชั้น 5 เพื่อนอีก 3-4 คนที่ไปด้วยกัน ไม่มีใครกล้าพูดอะไร และตอนที่ประตูลิฟต์เปิดนั้นมีลมเย็นนะเยือกเข้ามา (กลางดึกปลายเดือนเมษายนปี 41)
ตึก A เมื่อก่อนไม่ได้ทาสีแบบที่เห็นทุกวันนี้ จะเป็นสีขาวแล้วมีคราบดำ ๆ ตามอายุของตึกดูขลังมาก
ยามหน้าตึก A จะโดนเอาหมวกไปซ่อนบ่อยมาก เพราะแต่ละนายหลับยามได้สนิทมาก ๆ
สมัยเรียน ขึ้นบันไดหลอกผีของตึก B ทีไร ก็ไม่ถูกสักที ต้องเดินวนไปวนมากว่าจะเจอชั้นที่ต้องการ
ภาค power (ไฟฟ้ากำลัง) จะถูกเรียกกันเล่น ๆ ว่าลูกเมียน้อย เพราะอยู่นอกอาณาเขตคณะวิศวฯ คือ อยู่คนละฝั่งกับคณะ และมีรางรถไฟคั่นกลาง
เมื่อก่อนหน้าภาค power เป็นสามแยกปากหมาเล็ก ๆ ตอนที่รอทำแล็บที่ตึกภาค แซวสาว ๆ ที่ผ่านไปยังหอในและจากป้ายหยุดรถได้
ภาคโยธาจะถูกแซวว่าเป็นลูกเก็บมาเลี้ยง เพราะเมื่อยุคแรก ๆ สังกัดคณะสถาปัตฯ ก่อนโอนย้ายมาสังกัดคณะวิศวฯ
เมื่อก่อนเสาโทรฯ จะมีนักศึกษาแอบปีน โดยปีนจากข้างในแล้วไปออกที่ยอดเสาโทรฯ
มีคำเล่าขานเกี่ยวกับเสาโทรฯ คือ ปีน 1 ครั้ง ติดโปร, 2 ครั้งโดนรีไทร์
ปัจจุบันเสาโทรฯ ถูกปิดไม่ให้ปีนแล้ว เนื่องจากเสามีอายุเยอะและสลิงที่ยึดไว้ขาดจะหมดแล้ว
ชาวโดมรุ่น36 (รหัส 40) เป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้อยู่ที่อาคารข้างโดมลูกกอล์ฟจริง ๆ ก่อนที่โดมลูกกอล์ฟจะโดนรื้อถอนต้นปี 44
ร้านป้าจี่ เป็นร้านข้าวในตำนานของแท้อยู่ที่ประตูหลังของคณะ หลังจากป้าจี่เกษียณ ก็ได้ย้ายออกไปจากบ้านพักสวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัย ปิดตำนานร้านป้าจี่
อีกร้านที่ไปทานบ่อย ๆ คือร้านข้าวแถว ๆ หน้าคอนโดอาจารย์ ตอนนั้นพี่ผู้หญิงที่เป็นเลขาหน้าห้องคณบดีเป็นเจ้าของร้านและลงมือทำกับข้าวเองด้วย ต้มยำไก่น้ำใสอร่อยมาก ที่รู้ว่าเป็นเลขาเพราะว่า วันนั้นไปส่งเอกสารของชุมนุม พี่เขาก็รับเรื่องไว้ ตอนเย็นไปกินข้าวร้านนี้ครั้งก็ได้เจอพี่เขาอีกครั้งและก็ไปทานเรื่อย ๆ จนเรียนจบ ไม่รู้ว่าตอนนี้ยังอยู่ไหม
ร้านไก่ทอดหาดใหญ่แถวซอยเกกี ถ้าเป็นผู้ชายหน้าตาค่อนไปทางดีไปซื้อจะได้ไก่ชิ้นใหญ่และข้าวเหนียวเยอะกว่า ในราคาที่เท่ากัน
เมื่อก่อนมี 7-11 หน้าภาค power ด้วยนะ สมัยที่ทำโปรเจ็คอยู่ตึกภาคดึก ๆ หาของกินสะดวกเลย
งานวิศวลาดกระบังนิทรรศประยุกต์ 2543   ระหว่างวันที่  20-24  ธันวาคม  2543 แสดงผลงานเฉพาะคณะวิศวฯ ต่างจากครั้งก่อนหน้าและครั้งปี 49 ที่เป็นของทั้งสถาบัน
เคยไปทานข้าวคณะสถาปัตยฯ สงสัยว่า นศ. คณะนี้ไปทานข้าวที่ไหนกัน โรงอาหารว่างมาก
โรงอาหารคณะสถาปัตยฯ ติดกับคลองผดุงกรงเกษม บรรยากาศดี แต่ยุงเยอะไปหน่อย วันดีคืนดีมีสัตว์สี่เท้าคลานขึ้นมาทักทายด้วย
โรงอาหารคณะวิทยาฯ คนเยอะตลอด หาโต๊ะว่างได้ยาก
ไม่เคยไปโรงอาหารคณะครุศาสตร์และเทคโนเกษตร
ณ สมัยนั้น เกรดจะออกทีละวิชาสองวิชา เกรดที่ออกแล้วจะแสดงรายชื่อวิชา แต่ไม่บอกว่าวิชานั้นได้เกรดอะไร แต่ช่อง GPS (Grade Per Semester) จะบอก เช่น 3 วิชา GPS 3.00 ก็ต้องไปลองเดาเอาเองว่า แต่ละวิชาได้เกรดอะไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่ B ทั้ง 3 วิชาก็ได้
มีขบวนรถไฟฉะเชิงเทรา-หัวหิน ด้วย เคยนั่งไปนครปฐมและไปเที่ยวหัวหินมาแล้ว
ถ้าจะจองตั๋วรถไฟเดินทางไกล ต้องไปที่สถานีหัวตะเข้ จองที่ป้ายหยุดรถพระจอมเกล้าไม่ได้
สถานีหัวตะเข้อยู่ห่างสถานีพระจอมเกล้าประมาณ 800 เมตร รถไฟบางขบวนไม่จอดป้ายพระจอมเกล้านะ ต้องไปลงที่สถานีหัวตะเข้แล้วเดินย้อนมา
กลุ่มอาคารเรียนรวมสมเด็จพระเทพ เป็นอาคารที่น่าไปเรียนมาก ๆ เพราะได้เจอกับเพื่อนต่างคณะ
ถัดจากกลุ่มอาคารเรียนรวมเป็นลานพระจอมฯ มีทางวิ่งรอบ ๆ ตอนเย็น ๆ มี นศ. ไปวิ่งออกกำลังกายกันเยอะ
มีหน่วยงานของเนคเทค จำไมได้ว่าชื่ออะไร ตั้งอยู่ข้าง ๆ สถาบัน ติดกับเป็นทางมอเตอร์เวย์
หอประชุมเก่าของสถาบัน จะถูกเรียกว่าเป็นหอประชุมวิศวฯ บ่อย ๆ เพราะอยู่ในคณะวิศวฯ
จำได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง “รองต๊ะ แล่บแปล๊บ” ก็มาถ่ายบางฉากที่หอประชุมเก่าของสถาบัน
ในยุคสมัยนั้น สามารถใส่เสื้อยืดทับด้วยเสื้อช็อป, กางเกงยีนส์และรองเท้าแตะไปเรียนได้
รองเท้าแตะที่เป็นนิยมมากในสมัยนั้นยี่ห้อ PUPPA
ถ้ามาเป็นนักศึกษาวิศวฯลาดกระบังแล้ว จะได้ไปรับน้องอย่างน้อย 3 ครั้งคือ รับน้องคณะ, รับน้องห้องและรับน้องภาค
สถานที่ยอดนิยมในการรับน้องคือ ทะเลที่ระยอง
ประโยคที่ประธานเชียร์จะพูดใน First Cheer ทุกปีคือ “คณะของเรา เริ่มต้นจาก วิทยาลัยโทรคมนาคมเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง”
สมัยนั้น เพลงเชียร์ทุกเพลงในสมุดเชียร์จะถูกสอนให้ร้องเป็น แต่ปัจจุบันโดนตัดออกไปเยอะ เพราะเวลาไม่พอ
เพลงเชียร์วิศวฯลาดกระบังเน้นเสียงต่ำ ออกเสียงจากช่องท้อง
เพลงรุ่นวิศวฯลาดกระบังรุ่น 36 คือ เพลงเทคโนบันเทิงและเพลงรุ่น 36/2 คือ เพลงไม่อาจเปลี่ยนใจ
Last Cheer จะมีพี่ปีแก่ (รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว) กลับมาดูพอสมควรเลย
เพลงเทคโนบันเทิงถูกใช้เป็นเพลงของรุ่นอีกครั้งของรุ่น 46 ทิ้งช่วงไป 10 ปีพอดี
หลังจากผ่าน Last Cheer ของคณะแล้ว ก็จะไปรับน้องกัน สมัยข้าพเจ้าออกห้องประชุมมาก็เช้า แล้วก็ขึ้นรถไปรับน้องที่ทะเลระยอง จำชื่อรีสอร์ทไมได้ รุ่นพี่ทั้งที่เรียนอยู่และที่จบไปแล้วไปกันเยอะ
กิจกรรมกับรับน้องของวิศวฯลาดกระบังคือ การไปตีบ้าน มีบ้านหอย, บ้านหมี, บ้านอักเสบ, บ้านวาบหวามและจำชื่อไม่ได้อีก 2-3 บ้าน การไปตีคือ การไปเล่นเกม ทำกิจกรรมแข่งกันสนุกสนานมาก ไม่มีความรุนแรงใด ๆ เลยตลอดกิจกรรม
ตอนอยู่ปี 2 ไม่ได้ไปรับน้องนอกสถานที่ แต่จัดค้างคืนในคณะ มีไบรโอนี่มาแสดงสดด้วย สนุกมาก
ปี 3 กับ ปี 4 ได้กลับไปรับน้องคณะที่ทะเลอีก โดยปี4 มีชื่อโครงการว่า “เพื่อพี่ เพื่อน้อง เผื่อแผ่สังคม”  แยกกันไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนประถมและมัธยมใกล้ ๆ ที่พัก สนุกมาก
รับน้องห้องก็จะมีสไตล์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละห้อง ไม่มีความรุนแรงอีกเช่นกัน มีแต่กิจกรรมสันทนาการรวมกัน รุ่นพี่รุ่นน้อง ปิดท้ายด้วยการดื่มกินกันบ้างในคืนก่อนกลับ
แต่ละห้องจะมีบูมห้องเป็นของตนเอง
ตอนอยู่ปี 2 เป็นชั้นปีที่จัดรับน้องห้อง จะมีจัดเวรไปเฝ้าริมทะเลทั้งคืน เพราะมีคนเมาแล้วคึกอยากลงทะเลเหมือนกัน
อะไร ๆ ที่ออกมาตอนเมา ๆ ช่วงรับน้อง มักจะถูกแซวกันมาจนทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเพื่อนยังจำเราได้
เมื่อก่อนมีกีฬา 3 พระจอมฯ ที่รวมนักศึกษาคณะวิศวฯ 3 พระจอมเกล้า มาเล่นกีฬาและทำกิจกรรมร่วมกัน
จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นกีฬาสถาบันรวมนักศึกษาทุกคณะ
เมื่อก่อนมีเชียร์วิศวลาดกระบัง-ศึกษา มศว ด้วยนะ
เคยได้เข้าร่วม 2 ครั้ง ตอนปี 1 จัดที่ลาดกระบัง ปี 2 ไปที่ มศว ประสานมิตร ปี 3-4 ไม่มี หลังจากนั้นก็ไม่ทราบว่ามีหรือไม่
Robot Fighter ชิงแชมป์แห่งประเทศ จัดโดยชุมนุมอิเล็กทรอนิคส์ วิศวฯลาดกระบัง มีตอนปี 40-43 มีหลายทีมจากหลายสถาบันเข้าร่วม
ห้างสรรพสินค้าที่ใกล้ ๆ คือ ซีคอนศรีนครินทร์, เสรีเซนเตอร์และเดอะมอลล์บางกะปิ
ไปซีคอนมีโอกาสได้เจอเพื่อน, รุ่นพี่หรือรุ่นน้อง แบบมิได้นัดหมายได้เยอะที่สุด โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กกิจกรรม
เคยมีรุ่นน้องไปซีคอนแล้วกระเป๋าสตางค์หาย เลยตัดสินใจนั่งรอหน้าน้ำพุตรงประตูทางเข้า รอไม่นานก็เจอเพื่อนแล้วยืมตังค์เป็นค่ารถกลับหอได้
สมัยก่อนวิศวฯลาดกระบังไม่มีสอบกลางภาค เว้นบางวิชาของปี 1 อย่าง Math I และ Mechanic วิชาอื่น ๆ สอบครั้งเดียวตอนปลายเลย ไม่มีคะแนนเข้าห้องและคะแนนเก็บใด ๆ
บัณฑิตลาดกระบังรวมถึงวิศวฯลาดกระบังรุ่น 36 และก่อนหน้ารับปริญญาที่สวนอัมพร โดยรุ่น 36 เป็นรุ่นสุดท้าย จากนั้นย้ายไปไบเทคบ้าง, อิมแพคอารีน่าเมืองทองธานีบ้าง สลับกันไป แต่ตอนนี้ทราบว่ารับที่หอประชุมใหม่แล้ว
ขอบคุณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ได้ประสาทวิชาและหล่อหลอมนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์รุ่นต่อรุ่นจนสำเร็จการศึกษา มา ณ ที่นี้

ขอบพระคุณข้อมูลจาก : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=941747   ;)